Wednesday, February 21, 2007

สรุปการสนทนาระดมความคิด
เรื่อง "ปริญญาโทการละคร...หลักสูตรในฝัน"
โดย ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 17 ธันวาคม 2549 เวลา 14.00-17.00 น.
ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มุมมองจากภายนอก : ความคาดหวัง จุดแข็ง และจุดอ่อน

1. หลักสูตรฯ น่าจะเป็นที่ที่ให้ความรู้หรือเทคนิคใหม่ๆ ในการทำละคร ช่วยเพิ่มพูนความรู้ เก่าหรือช่วยเสริมเครื่องมือในการสอนวิชาด้านศิลปะการละคร เช่น การแก้ปัญหาการแสดง และการสื่อสารกับนักแสดง เป็นต้น ดังนั้น จึงควรเป็นหลักสูตรที่ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมากกว่าสัมมนาหรือเน้นแต่เนื้อหาทฤษฎี เพราะผู้เรียนต้องการนำสิ่งที่ได้ศึกษาไปใช้งานจริงในการประกอบอาชีพและการทำละคร

เพื่อให้การเรียนการสอนมุ่งไปที่การพัฒนาเฉพาะทางของแต่ละคน ผู้เรียนจึงควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนว่าจะเป็นไปเพื่อใช้ทำงานด้านใดในสาขาศิลปะการละคร และมีเวลาทุ่มเทให้อย่างพอเพียงกับการเรียนและการฝึกปฏิบัติ ในการนี้ หลักสูตรฯ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเฉพาะสายเพื่อช่วยชี้แนะแนวทางในการศึกษาที่จะมุ่งไปสู่การทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ของผู้เรียนแต่ละคน

2. หลักสูตรฯ ควรเป็นแหล่งสร้างและเผยแพร่งานวิจัยต้นฉบับด้านการละครไทยร่วมสมัย ซึ่งอาจพัฒนาเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Center of Excellence) ด้านศิลปะการละครต่อไป ทั้งนี้ ต้องเป็นหลักสูตร "ติดดิน" ที่เชื่อมการละครกับความเป็นจริงของคนไทยและสังคมร่วมสมัย ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงการนำกิจกรรมการเรียนหรือการวิจัยไปปฏิบัติการภาคสนามเพื่อการพัฒนาบุคคลบางกลุ่มหรือชุมชนต่างๆ ในสังคม

การบริหารหลักสูตร

การสอบคัดเลือก

ก. สอบข้อเขียน

วัดความรู้-ความเข้าใจ ทักษะและทัศนคติด้านการละคร โดยหลักสูตรฯ จะแจ้งข้อสอบกับผู้สมัครให้เตรียมตัวล่วงหน้าในการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ

ข. สอบสัมภาษณ์

สำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ และเป้าหมายในการเรียนและทำงานด้านศิลปะการละครของผู้สมัคร (ให้นำตัวอย่างงานมาเสนอด้วย - ถ้ามี)

ค. การสอบภาษาอังกฤษ

ผู้สมัครต้องได้คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP หรือเทียบเท่าตามเกณฑ์กำหนด อย่างไรก็ดี หลักสูตรฯ อาจพิจารณารับผู้สมัครที่มีคะแนนสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ดีเยี่ยมแต่มีคะแนนภาษาอังกฤษไม่ถึงเกณฑ์ได้ โดยมีข้อแม้ว่าผู้เรียนผู้นี้จะต้องสอบให้ได้คะแนนตามกำหนดภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เข้าเป็นนิสิตในหลักสูตรฯ

การเรียนการสอน

แบ่งเป็นสองแผนการเรียน ตามผลงานที่ผู้เรียนเลือกทำเพื่อจบการศึกษา

แผน ก. วิทยานิพนธ์

จบด้วยงานวิจัย โดยมีบทความวิจัยที่ตีพิมพ์หรือนำเสนอในวารสาร/การประชุมเชิงวิชาการระดับชาติ

ผู้เข้าฟังการสนทนาส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ตนไม่มีทักษะและความสนใจในการวิจัยเชิงวิชาการเช่นนี้

แผน ข. สารนิพนธ์

จบด้วยงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยงานภาคปฏิบัติ สารนิพนธ์ในฐานะรายงานวิจัย และการสอบประมวลความรู้

ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่แสดงความสนใจแผน ข. เพราะต้องการนำทักษะและความรู้ที่ได้ไปใช้งานจริง

แนวทางช่วยเหลือผู้เรียน

หลักสูตรฯ มีแนวทางในการช่วยเหลือผู้เรียนดังต่อไปนี้ คือ

ก. การเตรียม - เสริมความรู้พื้นฐาน - ทักษะเฉพาะทาง (pre-requisite/required knowledge & skill) เพื่อการศึกษาขั้นสูง หลักสูตรฯ อาจให้ผู้เรียนไปเข้าเรียนหรือฝึกฝนในห้องเรียนรายวิชาต่างๆ ในระดับปริญญาตรี เพื่อฟื้น-เสริมความรู้และทักษะในสาขาที่ผู้เรียนต้องรู้หรือต้องมีก่อนการเรียนสาขาวิชานั้น ในระดับปริญญาโท

ข. การเขียนเชิงวิชาการและการทำวิจัย ผู้เรียนหลายคนจำเป็นต้องได้รับการสอนและฝึกทักษะด้านการเขียนเชิงวิชาการและการทำวิจัย หลักสูตรจึงจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะผู้เรียนกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถเรียนวิชาของหลักสูตรฯ และฝึกฝนภาคปฏิบัติควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะในการเขียนเชิงวิชาการ

ค. การเรียนแบบเข้าฟังสำหรับบุคคลภายนอก (audit)

ผู้เข้าฟังการสนทนาบางคน สนใจการเรียนแบบ ลงทะเบียนเข้าฟังเฉพาะรายวิชาสำหรับบุคคลภายนอก ซึ่งภาควิชาฯ ได้รับผู้เรียนแบบเข้าฟัง 1 คนในระดับปริญญาบัณฑิต ในปีการศึกษา 2549 ที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้ว่า ภาควิชาฯ อาจรับผู้เรียนเข้าฟังในระดับมหาบัณฑิตด้วย

แผนการศึกษา ข. : การเลือกรายวิชาและเลือกหัวข้อสารนิพนธ์

ในภาคต้น ปี 1 ผู้เรียนควรตั้งประเด็นหลักๆ ที่ต้องการศึกษาและพัฒนาเป็นหัวข้อสารนิพนธ์อย่างกว้างๆ เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้สอนสามารถเน้นหรือเจาะจงประเด็นนั้นๆ กับแต่ละคน ในการเรียนรายวิชาต่างๆ ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือกที่หลักสูตรเปิดสอน

ในภาคปลาย ปี 1 ผู้เรียนควรส่งโครงงานสารนิพนธ์ (ภาคปฏิบัติ) ฉบับร่างและฉบับสมบูรณ์ในเวลาต่อมา ให้คณะกรรมการหลักสูตรฯ พิจารณา ขณะเดียวกันก็อาจใช้หัวข้อหรือประเด็นที่ตั้งไว้เป็นจุดโฟกัสในการเรียนแต่ละวิชา เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการตลอดจนวางแผนการศึกษาในปีที่สองว่าผู้เรียนต้องการฝึกหรือเน้นประเด็นใดในรายวิชาต่างๆ ในปีที่สองนี้

ในภาคต้น ปีที่ 2 ผู้เรียนกลุ่มที่มีความพร้อมแล้วเริ่มงานภาคปฏิบัติ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียนวิชาเลือกเสริมเพื่อฝึกหรือเน้นทักษะในประเด็นที่จะใช้งานภาคปฏิบัติในภาคปลาย

ในภาคปลาย ปีที่ 2 ผู้เรียนกลุ่มแรกเขียนสารนิพนธ์และเรียนวิชาเลือกเสริม กลุ่มที่สองทำงานภาคปฏิบัติแล้วเขียนสารนิพนธ์ในปลายภาคเรียน